การศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่กับมิติแห่งสังคมพหุวัฒนธรรม
“พ่ออยากให้เด็กตาบอดมุสลิมและภาคใต้ตอนล่างได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุขและสบายใจ”
นี่คือคำปรารภที่ทั้งนักเรียนและบุคลากรชาวโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่มักจะได้รับฟังอยู่บ่อยๆซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ท่านอาจารย์ประหยัด ภูหนองโอง แวะมาเยี่ยมพวกเราตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่ และนี่คงจะเป็นวิสัยทัศน์แห่งปฐมบทของมูลเหตุการเกิดขึ้นของสถานศึกษาที่มีชื่อว่าโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดสาขาแรกในพื้นที่เขตภาคใต้ ในสังกัดของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
การเกิดขึ้นของโรงเรียนสอนคนตาบอดในเขตภาคใต้ตอนล่าง ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของทีมงานผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งที่เป็นคณะทำงานจากมูลนิธิธรรมิกชนเอง และคณะผู้ให้การสนับสนุนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของคุณตาถาวร พงษ์ประยูร เพราะนอกจากในราวปี พ.ศ.2548 คำว่าโรงเรียนสอนคนตาบอด จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ของสังคมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างแล้ว ความแปลกใหม่ที่สังคมมีต่อ"
กลุ่มคนตาบอด" ก็ถือเป็นประสบการณ์และองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่คุ้นชินมากนักของคนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้น ดังนั้น การที่คณะทำงานของมูลนิธิฯ จะใช้ความเชื่อที่มีต่อการศึกษามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาบอด จึงกลายเป็นความท้าทายขั้นต้นที่จะต้องนำเสนอและพยายามพิสูจน์ให้สังคม ในพื้นที่และครอบครัวที่มีเด็กตาบอดได้รับรู้ เรียนรู้ เชื่อมั่นและมองเห็นฉากทัศน์เดียวกันกับมูลนิธิฯความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในมิติของสังคมทั่วไปที่มีต่อ"คนตาบอด"แม้ในยุคปัจจุบันที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารรวมถึงการขยายตัวของช่องทางการรับรู้ข้อมูลของคนในสังคมจะเติบโตและกว้างไกลขึ้น แต่สิ่งที่คนทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดและคนพิการคงจะเล็งเห็นร่วมกันคือระดับการรับรู้องค์ความรู้ที่"ถูกต้อง"เรื่องคนตาบอดในสังคมยังคงจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มและเฉพาะวงการซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้ก็คงจะครอบคลุมถึงสังคมที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการของโรงเรียนเช่นกัน ดังนั้นการพิสูจน์ความเชื่อและส่งต่อความเชื่อมั่นที่พวกเรามีต่อ"คนตาบอด"โดยใช้เครื่องมืออย่าง"การศึกษา" จะสามารถทำให้คนตาบอดที่ผ่านกระบวนการพัฒนาดังกล่าวมีระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นได้ในอนาคตและนี่คือภาระกิจสำคัญที่พวกเราชาว"ธรรมสากล"ทุกคนยึดถือและร่วมกันปฏิบัติสืบต่อกันมาในตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในมิติของสังคมแห่งความแตกต่าง ในเขตพื้นที่ให้บริการหลักของโรงเรียนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดถึง 7 จังหวัดโดยมีอำเภอหาดใหญ่ของจังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนด้วย ในลักษณะพื้นเพของแต่ละพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ถือได้ว่าเป็นเขตพื้นที่ที่มีความหลากหลายและความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งสะท้อนผ่านการประกอบอาชีพ ชนชาติและความเชื่อทางศาสนาซึ่งสะท้อนผ่านภาษา และกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่สะท้องถึงฐานะความเป็นอยู่และรสนิยมการใช้ชีวิต โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ ซึ่งได้รับชื่อหลักคือคำว่า "ธรรมสากล" มาจากคำปรารภ ของท่านผู้บริจาคที่ดินเพื่อให้ก่อนตั้งโรงเรียนซึ่งท่านต้องการให้ทุกสถานที่ที่ท่านบริจาคมีการใช้ คำว่า"ธรรม"เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสถานที่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า"ธรรม"ซึ่งแปลว่าคุณความดี และคำว่า "สากล" ซึ่งแปลว่า ทั่วไปหรือทุกคน ความหมายโดยรวมของคำว่า "ธรรมสากล" จึงพอจะหมายถึง"สถาบันการศึกษาที่มอบและสร้างคุณความดีให้แก่ทุกคนร่วมกัน" การจัดการดูแลทุกชีวิตในสังคม"ธรรมสากล" จึงต้องให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า มีความสุข ซึ่งเป็นเสมือนการจำลองความแตกต่างจากมุมมองของสังคมพหุวัฒนธรรมในภาพใหญ่มาอยู่ในขนาดของสังคมพหุวัฒนธรรมแบบโรงเรียนที่มีทั้งความหลากหลายทั้งด้านพื้นเพแหล่งกำเนิดชนชาติและสัญชาติซึ่งมีทั้งนักเรียนและบุคคลากรที่เป็นคนไทยถิ่นใต้ เดิม คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายมาเลย์ ความเชื่อทางศาสนาซึ่งมีทั้งนักเรียนและบุคลากรที่นับถือทั้งศาสนาพุทธ อิสลามและคริสต์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางภาษาซึ่งมีทั้งนักเรียนและบุคลากรที่ใช้ได้ทั้งภาษาไทยถิ่นและภาษามาลายูรวมถึงความแตกต่างทางระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวนักเรียนและบุคลากรที่ไม่เท่ากัน ความเป็นพหุวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ เมื่อทุกคนเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม"ธรรมสากล" ทุกคนจะต้อง เรียนรู้ รับฟัง ปรับตัว ยอมรับและร่วมกันหาหนทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และมีความสุข ซึ่งเมื่อนักเรียนของเราคุ้นชินกับระบบการใช้ชีวิตในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม เป็นอย่างดีและอย่างต่อเนื่องแล้ว เราเชื่อว่า เมื่อถึงวันที่เด็กๆของเราต้องเดินทางออกสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวและมีชีวิตอยู่ร่วมกับทุกสังคมอย่างมีความสุขและสงบได้"งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากจะเป็นผู้พิการและอยากช่วยเหลือตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่ปฏิบัติงานอะไร เพื่อชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำก็คือช่วยเขาให้ช่วยเหลือตนเองได้เพื่อจะทำให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม..."
(พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ:22 มีนาคม 2517)
และนี่คงจะเป็นภาระกิจสำคัญที่พวกเราชาว"ธรรมสากล"และ"ชาวธรรมิกชน" ทุกคนจะ"คงทำ ทำอยู่ และทำต่อไป" รวมถึงจะขอยึดถือและน้อมนำมาใช้เป็นหลักชัยในการทำงานเพื่อร่วมกัน"นำการศึกษา"สู่"การพัฒนาชีวิตนักเรียนตาบอด" โดยมีทุกภาคส่วนของสังคมร่วมจับมือ ส่งเสริมและสนับสนุนงานของพวกเราสืบไป
นายสุรเดช สุริยวานิช
ครูปฏิบัติการสอนโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่