การกำเนิดอักษรเบรลล์

อักษรเบรลล์ คือ อักษรที่ใช้ในระบบการเรียนการสอนสำหรับคนตาบอด ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของจุดนูนเขียนลงบนกระดาษ โดยใช้ปลายนิ้วมือสัมผัสในการอ่าน อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดนี้มีการคิดประดิษฐ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824 โดยนักเรียนตาบอดชาวฝรั่งเศส ชื่อ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille)

หลุยส์ เบรลล์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 ณ เมือง Coupvray ประเทศฝรั่งเศส หลุยส์ เบรลล์ตาบอดเพราะเกิดอุบัติเหตุเมื่ออายุ 3 ขวบ ตอนแรกเขาเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ ต่อมาได้ไปเรียนที่สถาบันคนตาบอดแห่งชาติฝรั่งเศส เมืองปารีส และเป็นครูสอนหนังสือในเวลาต่อมา เขามีความรู้สึกสำนึกว่า คนตาบอดหากไม่มีอักษรสำหรับบันทึกข้อความแล้วการศึกษาจะเป็นไปได้ไม่ดี เขามีความคิดมาจากนายทหารแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสชื่อ กัปตันชาลส์ บาบิแอร์ ซึ่งได้นำวิธีการส่งข่าวสารทางทหารในเวลากลางคืนมาให้คนตาบอดลองใช้ดูระบบนี้ใช้รหัส จุดขีด นูนลงบนกระดาษแข็ง ซึ่งเรียกว่า โซโนกราฟฟี่ (Sonography) แม้ระบบนี้ค่อนข้างจะยุ่งยากแต่หลุยส์ เบรลล์ เห็นคุณค่าของวิธีการนี้จึงได้นำมาดัดแปลงให้เหมาะกับการสัมผัสด้วยปลายนิ้ว โดยให้มีจุดหกจุดเรียงกันเป็นสองแถว ทางตั้งแถวด้านซ้ายเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 1, 2, 3 และทางตั้งแถวด้านขวาเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 4, 5, 6 แล้วนำจุดต่าง ๆ นี้มาจัดกลุ่มกันเป็นรหัสได้ถึง 63 กลุ่ม และสามารถนำไปใช้แทนตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี และเครื่องหมายต่าง ๆ ได้

หลุยส์ เบรลล์ ได้ประกาศวิธีการใช้อักษรสำหรับคนตาบอดในปี ค.ศ. 1824 เมื่อเขามีอายุได้ 15 ปี ต่อมานักเรียนตาบอดเกิดความกระตือรือร้นในโอกาสใหม่นี้มาก และคำว่า “เบรลล์” จึงถือว่าเป็นอักษรสำหรับคนตาบอดซึ่งมาจากชื่อ “หลุยส์ เบรลล์” เพื่อเป็นการยกย่องให้กับผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น หลุยส์ เบรลล์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1852 เพียง 2 ปี ก่อนระบบการเขียนการอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอดจะเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ

การกำเนิดอักษรเบรลล์ภาษาไทย

อักษรเบรลล์ภาษาไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยสุภาพสตรีอเมริกันตาบอด ชื่อ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevive Caufield) โดยได้ร่วมกับคณะคนไทยคิดอักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ซึ่งประยุกต์มาจากอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเป็นการเปิดศักราชแห่งการเรียนรู้หนังสือของคนตาบอดไทย ต่อมาก็ได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ในความดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ จึงได้ช่วยงานของมูลนิธิฯ ตลอดมา และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2515 ในประเทศไทย

ความหมายของอักษรเบรลล์ (Braille)

1. อักษรเบรลล์   

อักษรเบรลล์เป็นอักษรสำหรับคนตาบอด มีลักษณะเป็นจุดนูนเล็ก ๆ ใน 1 ช่อง ประกอบด้วยจุด 6 ตำแหน่ง ซึ่งนำมาจัดเป็นกลุ่มสลับกันไปมาเป็นรหัสแทนอักษรตาดี หรือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ การเขียนใช้เครื่องมือเฉพาะเรียกว่าสเลท (Slate) และสไตลัส (Stylus) การพิมพ์ใช้เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Brailler)                              

2. อุปกรณ์การเขียนอักษรเบรลล์

2.1 สไตลัส (Stylus) มีไว้สำหรับใช้เขียนอักษรเบรลล์ต้องใช้ควบคู่กับสเลท (Slate) สไตลัสประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และปลายเข็ม

2.2 สเลท (Slate) เป็นแผ่นกระดานใช้สำหรับใส่กระดาษเพื่อเขียนอักษรเบรลล์ ภายในแผ่นกระดานประกอบด้วย ช่องเป็นแถวยาว ในแต่ละช่องจะมีรูไว้สำหรับเขียนช่องละ 6 รู สเลทแต่ละอันจะมีฝาเปิด-ปิด และที่ล็อคกระดาษ

2.3 เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Brailler) ใช้สำหรับพิมพ์อักษรเบรลล์

2.4 กระดาษที่ใช้เขียนและพิมพ์ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของอุปกรณ์

3. วิธีการใช้อุปกรณ์การเรียน

3.1 การใช้สไตลัส (Stylus) มีไว้สำหรับเขียนอักษรเบรลล์ มีวิธีจับสไตลัสที่ถูกต้อง โดยวางโคนนิ้วชี้ไว้บนสไตลัส และให้นิ้วหัวแม่มือสอดไว้ใต้โคนนิ้วชี้ ใช้นิ้วหัวแม่มือ โคนนิ้วกลาง และปลายนิ้วชี้จับประคองส่วนหัวให้ตั้งตรง และจับให้กระชับมือ

3.2 การใช้สเลท (Slate) มีไว้สำหรับเขียนอักษรเบรลล์

- การวางสเลท ให้วางด้านที่มีช่องไว้ด้านบน โดยให้บานพับอยู่ทางด้านซ้ายมือและให้วางสเลทขนานกับลำตัวของผู้เขียน

- การเปิด-ปิดสเลท ให้เปิดทางด้านขวา ด้านซ้ายจะล็อค

3.3 การใส่กระดาษ ให้เปิดสเลทแผ่นบนขึ้นและใส่กระดาษ โดยใส่กระดาษขอบซ้ายให้ชิดบานพับด้านซ้าย และหัวกระดาษอยู่ชิดขอบบนของสเลท และกดกระดาษลงตรงปุ่มทั้งสี่ของสเลทที่ใช้ล็อคกระดาษ แล้วจึงปิดสเลท

3.4 การเลื่อนกระดาษ ให้เปิดแผ่นสเลทด้านบนขึ้น แล้วเลื่อนแผ่นกระดาษด้านล่างขยับขึ้นด้านบน โดยให้นำรอยปุ่มที่ล็อคกระดาษด้านล่าง 2 ปุ่ม ขึ้นไปทับที่ล็อคกระดาษด้านบน 2 ปุ่ม แล้วจึงปิดสเลททับกระดาษ

หมายเหตุ การเลื่อนกระดาษให้ขึ้นอยู่กับลักษณะของสเลทเป็นหลัก

4. วิธีการเขียนอักษรเบรลล์

4.1 ใช้นิ้วชี้ซ้ายสัมผัสช่องของแผ่นสเลทจากขวาไปซ้าย

4.2 เอามือขวาจับสไตลัส แล้วเขียนจากขวาไปซ้ายโดยใช้นิ้วชี้ซ้ายกำกับช่อง

เครดิต :