ทำไมคนตาบอดจึงถือโคมไฟ

รูปประกอบบทความมีชายสองคนถือโคมไฟ

 

 

ยังมีตรอกสายหนึ่งที่ทั้งมืด  ทั้งแคบทั้งยังไม่มีดวงไฟส่องทางให้ความสว่างแม้แต่น้อย  ดังนั้น  เมื่อถึงยามค่ำคืนการเดินทางในตรอกแห่งนี้จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก  คืนวันหนึ่ง  มีพระรูปหนึ่งเดินผ่านเข้ามายังตรอกดังกล่าว  เพื่อนมุ่งหน้าไปยังอารามทว่าด้วยความที่ตรอกนี้มืดมิด  กระทั่งนิ้วมือทั้งห้าของตนเองยังไม่อาจมองเห็นได้  เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ พระรูปนี้จึงทั้งเดินไปชนผู้อื่น  และถูกผู้อื่นเดินมาชนไม่หยุดหย่อน  สร้างความลำบากยิ่งนัก  ในตอนนั้นเอง  มีคนผู้หนึ่งถือโคมไฟเดินเข้ามายังตรอกดังกล่าว  พลันทำให้ในตรอกเกิดแสงสว่างขึ้นพอสมควร  พระรูปนั้นได้ยินคนเดินผ่านทาง  กล่าวว่า  “คนตาบอดผู้นั้นช่างแปลกนัก  ตนเองมองไม่เห็นแท้ๆ ใยต้องถือโคมไฟให้วุ่นวาย”  เมื่อพระได้ยินก็รู้สึกแปลกใจ  รอจนกระทั่งคนตาบอดถือโคมไฟคนนั้นเดินผ่านมา  จึงเอ่ยขึ้นว่า

พระ                        :             ขออภัย ท่านตาบอดจริงๆ หรือ

คนตาบอด              :              ถูกแล้ว  ข้าเกิดมาก็พิการ  ตาสองข้างมองไม่เห็น  สำหรับข้านั้นไม่ว่าจะยามเช้าสายบ่ายเย็นล้วนไม่ต่างกัน  ทั้งยังไม่ทราบว่าแสงสว่างหน้าตาเป็นเช่นไร

พระ                         :            เช่นนั้น  ท่านจะถือโคมไฟไปเพื่ออะไร

คนตาบอด              :           เนื่องเพราะข้าเคยได้ยินคนพูดกันว่าในยามกลางคืนไร้แสงสว่าง  คนตาดีทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกับข้า  คือ  มองไม่เห็นสิ่งใด  ดังนั้น ข้าจึงถือโคมไฟไปไหนมาไหนเสมอ

พระ                        :         ได้ยินก็เกิดความซาบซึ้งใจ  เอ่ยคำ  อมิตาพุทธ  ออกมา  และกล่าวต่อไปว่า  ท่านช่างมีเมตตาธรรม  ห่วงใยเพื่อนมนุษย์ 

คนตาบอด              :             ผิดแล้ว  ข้าทำไปเพื่อตัวเอง

พระ                         :           เพื่อตัวเองอย่างไร

คนตาบอด              :            เมื่อครู่ท่านเดินอย่างมืดมนในตรอก  ใช่คนเดินสวนไปมาเดินชนหรือไม่  ท่านดูข้าเองนั้นแม้เป็นคนตาบอด  แต่ข้าไม่โดนผู้อื่นเดินชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนข้าก็เป็นเช่นเดียวกับท่าน  คือ  โดนคนเดินมาชนเอาบ่อยครั้งแต่เมื่อข้าถือโคมไฟทุกอย่างก็เปลี่ยนไปที่ข้าจุดโคมไฟไปไหนมาไหนด้วยนั้นข้าจุดเพื่อให้แสงสว่างกับคนอื่นและเพื่อให้ผู้อื่นมองเห็นตัวข้า  ตั้งแต่นั้นมา  ข้าก็ไม่โดนผู้ใดเดินชนอีกเลย

 

***  การช่วยเหลือผู้อื่น  ประโยชน์สูงสุดล้วนกลับคืนมาสู่ผู้ให้***

 

อ้างอิง