ประวัติความเป็นมา มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย

ในพระบรมราชูปถัมภ์สาขาจังหวัดนครราชสีมา

 ภาพเด็กนักเรียนกำลังทำกิจกรรมการเรียน และการรับประทานอาหาร

          ปีพุทธศักราช 2530 มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนายประหยัด ภูหนองโอง ซึ่งเป็นคนตาบอด ได้ขยายการบริการทางการศึกษาสู่คนตาบอดอีสานใต้  มีพื้นที่ให้บริการใน  5  จังหวัด  ได้แก่   จังหวัดนครราชสีมา  ชัยภูมิ   บุรีรัมย์  สุรินทร์  และศรีสะเกษ  การดำเนินงานระยะแรกเริ่ม ได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงาน จากเงินบริจาคของมูลนิธิดาร์กแอนด์ไลท์ แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวนเงิน  1.4  ล้านบาท  นำมาก่อสร้างอาคารสำนักงาน 1 หลัง  อาคารบ้านพัก  2  หลัง  อาคารโรงจอดรถ  1  หลัง  ภายหลังปรับปรุงอาคารจอดรถเป็นห้องรับประทานอาหาร  บนที่ดินจำนวน  7  ไร่  ซึ่งบริจาคโดยคุณมาลิน คุวานันท์ ตั้งอยู่ที่ซอยวัชรปาณ ถนนมุขมนตรี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

         ต่อมาใน ปี  พ.ศ. 2533  นายประหยัด  ภูหนองโอง  ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในขณะนั้น  ได้ยื่นหนังสือต่อนายบุญชู  เพิ่มเจริญ  นายอำเภอเมืองนครราชสีมา  เพื่อขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กตาบอดผู้ยากไร้  ขึ้นในศูนย์บริการการศึกษาคนตาบอด  นครราชสีมา  ตามมาตรา  15(3)  โดยดำเนินการขอจดทะเบียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย  ถึงระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การจัดการศึกษามีนักเรียนบางส่วนออกไปเรียนร่วม  ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเมื่อวันที่  16  เดือน พฤษภาคม  พ.ศ. 2533  โดยในปีการศึกษาที่  1 /  2533 โรงเรียนเปิดสอนชั้นเรียนระดับอนุบาล  มีนักเรียน  10  คน  โดยใช้อาคารบ้านพักครูเป็นห้องเรียน

         เมื่อวันที่  14  มีนาคม  พ.ศ. 2533  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี   ได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด  โดยพระราชทานนามศูนย์ฯ  แห่งนี้ว่า  “ศูนย์บริการการศึกษาคนตาบอด  นครราชสีมา” เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น ให้บริการสื่อและอุปกรณ์การเรียนสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ นำมาซึ่งความปราบปลื้มใจมาสู่พสกนิกรตาบอดเป็นอย่างยิ่งปี พ.ศ. 2536  โรงเรียนได้เปิดชั้นเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  เป็นปีแรก  มีนักเรียนจำนวน  3  คน

  • ปี พ.ศ. 2537  โรงเรียนขออนุญาตขยายชั้นเรียนเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3
  • ปี พ.ศ. 2538  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน  ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน  1  หลัง  เป็นเงิน  6,000,000  บาท  (หกล้านบาทถ้วน)  ผู้มีจิตเป็นกุศลในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงร่วมสมทบอีกเป็นเงิน  3,000,000  บาท  (สามล้านบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน  9,000,000 บาท  (เก้าล้านบาทถ้วน  )  การก่อสร้างดำเนินการโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ราชสีมาเสริมกิจพานิช  แล้วเสร็จในเดือนกันยายน  พุทธศักราช  2539
  • ปี พ.ศ. 2540  โรงเรียนขอขยายชั้นเรียนเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6 หลังจากนั้นเมื่อวันที่  8  มีนาคม  พ.ศ. 2540  ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธานเปิดอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด  นครราชสีมา
  • ปี พ.ศ. 2542  เมื่อวันที่ 1  ตุลาคม  2542  โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด  นครราชสีมา  เปลี่ยนผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการโรงเรียนจากเดิมคือ  นายประหยัด  ภูหนองโอง  เป็น นายมุข  วงษ์ชวลิตกุล 
  • ปี พ.ศ. 2545  เมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  2545  โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด  นครราชสีมา  เปลี่ยนผู้จัดการโรงเรียน  จากเดิมคือ  นายมุข  วงษ์ชวลิตกุล  เป็นนางทวีทรัพย์  นามเกียรติ  จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.  2551
  • ปี พ.ศ. 2552  เมื่อวันที่ 10  มีนาคม  2552  แต่งตั้ง นางกาญจนา  พรมแก้ว  เป็นผู้จัดการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด แทน นางทวีทรัพย์  นามเกียรติ  และแต่งตั้ง นางศักดิ์นิดา  บุญนิรันดร์ เป็น รองผู้อำนวยการโรงเรียน
  • ปี พ.ศ. 2553  เมื่อวันที่  1  เมษายน  2553  ถึง ปัจจุบัน แต่งตั้ง นายประหยัด ภูหนองโอง  เป็นผู้จัดการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด นครราชสีมา แทน นางกาญจนา  พรมแก้ว
เด็กตาบอดยืนไหว้
เด็กตาบอดยืนไหว้