วิธีปฏิบัติต่อคนตาบอด: รู้เขารู้เรา เขาแฮปปี้เราแฮปปี้

เขียนโดย ชัชรพล เพ็ญโฉม , วันที่ 28 ธันวาคม 2556

คุณอาจสังเกตว่าในโลกยุคปัจจุบัน คุณมีโอกาสใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันกับคนพิการมากขึ้น เนื่องจากมุมมองต่อคนพิการเปลี่ยนไป อีกทั้งสิ่งแวดล้อมยังออกแบบให้เอื้อต่อกายภาพของทุกคนมากขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติตัวต่อคนพิการซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่คุ้นเคยสำหรับใครหลายคนจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ คนตาบอดเป็นคนพิการกลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษเมื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะไม่ 'มาก’ หรือ ‘น้อย’ เกินไป ต่อไปนี้เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานง่ายๆ เมื่อคุณต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือใช้ชีวิตร่วมกับคนตาบอด  

  1. ตาบอด ใจไม่บอด คุณควรปฏิบัติต่อคนตาบอดเหมือนบุคคลทั่วไป การมองไม่เห็นเป็นเพียงความพิการทางกาย ส่วนความรู้สึกนึกคิด ความสนใจใคร่รู้ ความต้องการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ยังคงเหมือนคนทั่วไป ดังนั้น จึงไม่ควรมีท่าทีห่วงใยมากจนเกินไปหรือปฏิบัติตัวแปลกไปจากที่กระทำต่อคนทั่วไป
  2. ไม่ต้องเกรงใจ คนตาบอดสามารถดูแลและให้บริการคุณในเรื่องต่างๆ ได้เช่นเดียวกับที่คุณมีน้ำใจต่อเขา ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเกรงใจคนตาบอดเมื่อเขาเสนอให้ความช่วยเหลือแก่คุณ หากแต่ควรให้โอกาสในการแสดงออกแก่เขา นอกจากคุณมีเหตุขัดข้องสุดวิสัยจริงๆ 
  3. มองไม่เห็น แต่ใช่ว่าจะชอบอยู่มืดๆ แม้คนตาบอดจะมองไม่เห็น แต่บางคนไม่ชอบอยู่ในห้องที่ไม่มีแสง ดังนั้น หากเขาถามหาสวิตช์เพื่อเปิดไฟขอจงอย่าแปลกใจ
  4. ประตู ไม่เปิดก็ปิด ไม่ควรเปิดประตูค้างไว้ในสถานที่ที่มีคนตาบอดอยู่ แต่ควรปิดหรือเปิดกว้างจนชิดฝาผนังไปเลย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เขาเดินชน
  5. มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ ควรเสนอความช่วยเหลือต่อคนตาบอดเวลาข้ามถนนหรือในสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าบางครั้ง คุณจะถูกปฎิเสธไม่ยอมรับความช่วยเหลือก็ตาม
  6. ตาไม่เห็น แต่หูได้ยิน ในการสนทนากับคนตาบอด ควรพูดคุยเหมือนที่กระทำกับคนทั่วไป ไม่ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติ หรือพูดผ่านล่ามที่เป็นเพื่อนหรือผู้นำทางของเขา 
  7. คำว่า ‘ตาบอด’ ไม่เป็นไร หากจำเป็นต้องพูดคำที่เกี่ยวกับ 'ตาบอด' หรือ 'มองเห็น' ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น
  8. ทักทายเพื่อแสดงตัว เมื่อเข้าไปในห้องที่มีคนตาบอดอยู่ ควรพูดทักทายหรือใช้เสียงเพื่อให้ทราบว่ามีคนเข้ามา ไม่ควรถามว่า “ทายซิว่าใคร” แต่ควรบอกชื่อไปเลย หากมีบุคคลเพิ่มขึ้น ควรบอกให้ทราบด้วย
  9. ไม่ต้องไหว้ แต่ทักทายด้วยการสัมผัสมือ การทักทายคนตาบอดทำได้โดยการสัมผัสมือ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความยิ้มแย้มแจ่มใสและความเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการพบหรืออำลากัน
  10. บอกตำแหน่งเครื่องขยายเสียง ในที่ที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ควรบอกให้คนตาบอดทราบตำแหน่งของผู้พูด เพื่อจะได้หันหน้าไปทางผู้พูดได้ถูกต้องแทนที่จะหันไปตามเสียงที่มาจากลำโพง ซึ่งอาจทำให้คนตาบอดพูดกับลำโพงได้
  11. จากไปให้กล่าวอำลา หลังการสนทนา เมื่อจะจากไปควรบอกให้คนตาบอดทราบ มิฉะนั้น คนตาบอดอาจรู้สึกเก้อเขินที่ต้องพูดอยู่คนเดียว

เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนตาบอด ลองคำนึงถึงหลักดังกล่าวและนำไปปฏิบัติดู แล้วคุณจะพบว่าไม่มีข้อจำกัดใดที่จะกั้นขวางคำว่า ‘มิตรภาพ’ 

cr.http://www.bluerollingdot.org/articles/how/116