สิทธิของผู้มีความบกพร่องทางการเห็น
นิยาม
คนพิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด
การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หมายความว่า การเสริมสร้างสมรรถภาพหรือความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น หรือดำรงสมรรถภาพหรือความสามารถที่มีอยู่เดิมไว้ โดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์ การศาสนา การศึกษา สังคม อาชีพ หรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมอย่างเต็มศักยภาพ
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต หมายความว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การจัดสวัสดิการการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ การสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
ประเภทความพิการมี ๖ ประเภท
๑ ) ความพิการทางการเห็น
๒ ) ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
๓ ) ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย
๔ ) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก
๕ ) ความพิการทางสติปัญญา
๖ ) ความพิการทางการเรียนรู้
ลักษณะความพิการ
๑. ความพิการทางการเห็น ได้แก่
๑ ) ตาบอด หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องทางการเห็น เมื่อ
ตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดารแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า ๓ ส่วน ๖๐ เมตร ( ๓/๖๐ ) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต ( ๒๐/๔๐๐ ) ลงมาจนกระทั่งมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๑๐ องศา
๒ ) ตาเห็นเลือนราง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นมาจากการมีความบกพร่องในการเห็นเมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่า เมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วอยู่ในระดับ ๓ ส่วน ๖๐ เมตร ( ๓/๖๐ ) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต ( ๒๐/๔๐๐ ) ไปจนถึงแย่กว่า ๖ ส่วน ๑๘ เมตร
( ๖/๑๘ ) หรือ ๒๐ ส่วน ๗๐ ฟุต ( ๒๐/๗๐ ) หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๓๐ องศา
๒. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ได้แก่
๑ ) หูหนวก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมีผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินเสียงโดยใช้คลื่นความถี่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ หรือ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะมีความดังของเสียง ๙๐ เดซิเบลขึ้นไป
๒ ) หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมีผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยินเสียงโดยใช้คลื่นความถี่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ หรือ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะมีความดังของเสียงน้อยกว่า ๙๐ เดซิเบล ลงมาจนถึง ๔๐ เดซิเบล
๓ ) ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย ได้แก่ พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด หรือพูดแล้วผู้อื่นไม่เข้าใจซึ่งมีพื้นฐานมาจากการตัดกล่องเสียง หรือความบกพร่องที่มีมาแต่กำเนิด เป็นต้น
๓. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ได้แก่
๑ ) ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต แขน ขา อ่อนแรง แขน ขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทำงานมือ เท้า แขน ขา
๒ ) ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน
๔. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก ได้แก่
๑ ) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด
๒ ) ความพิการทางออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่อิงทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์ โดยสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง และความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๒ ปีครึ่ง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการวินิจฉัยกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอื่นๆ เช่น แอสเปอเกอร์ ( Asperger )
๕. ความพิการทางสติปัญญา ได้แก่การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่าปกติหรือมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าบุคคลทั่วไป โดยความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๑๘ ปี
๖. ความพิการทางการเรียนรู้ ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของช่วงอายุและระดับสติปัญญา
แนวทางทางการตรวจวินิจฉัยและออกใบรับรองความพิการ
๑. ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและออกใบรับรองความพิการที่ระบุประเภทความพิการ ในกรณีเป็นผู้พิการที่มีสภาพความพิการมากกว่าหนึ่งประเภทให้ระบุทุกประเภทลงในใบรับรองความพิการ
๒. กรณีนายทะเบียนกลาง หรือนายทะเบียนจังหวัดเห็นว่าบุคคลนั้นมีสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ไม่ต้องให้มีการตรวจวินิจฉัยก็ได้
หลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอ และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นต่อคนพิการ
๑. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติ เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิที่คนพิการพึงได้รับอย่างเท่าเทียมบุคคลทั่วไปตามกฎหมาย ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทก่อนมีการวินิจฉัยการร้องขอ ไกล่เกลี่ย รวบรวมข้อเท็จจริงและจัดทำการวินิจฉัยในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐและเสนอการวินิจฉัยนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยและมีคำสั่งชี้ขาดในกรณีพิพาทนั้น
บัตรประจำตัวคนพิการ
( บัตรประจำตัวมีอายุหกปีนับแต่วันออกบัตร )
สำหรับคนพิการในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการสำนักทะเบียนกลาง สำหรับจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดซึ่งเป็นสำนักงานทะเบียนจังหวัด โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด
กรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ หรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตนเอง ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอแทนก็ได้ แต่ต้องนำหลักฐานว่าเป็นคนพิการไปแสดงต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณี
เอกสารที่ยื่นขอบัตรประจำตัวคนพิการได้แก่
๑ ) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือ
สำเนาสูติบัตรคนพิการ
๒ ) สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
๓ ) รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ( ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน ) จำนวน ๒ รูป
๔ ) ใบรับรองความพิการ เว้นแต่สภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์
๕ ) กรณีบุคคลอื่นยื่นคำขอแทนคนพิการ ให้นำสำเนาบัตรประจำตัว
ประชาชนหรือสำเนาทะเบียนของบุคคลนั้น และหลักฐานที่แสดงให้เห็น
ว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการ
เนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณี
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ
Convention on the Rights of Persons with Disabilities ( CRPD )
การเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การอยู่ได้ด้วยตนเอง การมีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง และความเป็นอิสระของบุคคล การไม่เลือกปฏิบัติ การเข้ามีส่วนร่วมในสังคม การเคารพความแตกต่าง ความเท่าเทียมกันในโอกาส ความสามารถในการเข้าถึง
สิทธิคนพิการ ได้แก่ สิทธิความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถตามกฎหมายบนพื้นฐานอันเท่าเทียมกัน เสรีภาพจากการถูกทรมาน เสรีภาพจากการแสวงหาประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการถูกล่อลวง สิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อศักดิ์ศรีทางร่างกายและจิตใจ สิทธิในการอาศัยอยู่ในชุมชน เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น สิทธิการเคารพการเป็นส่วนตัว สิทธิการเคารพในการสร้างครอบครัว สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิทางการศึกษา สิทธิด้านการทำงาน สิทธิสำหรับมาตรฐานความเป็นอยู่ที่พอเพียง
การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ หมายถึง ความแตกต่าง การกีดกัน หรือการจำกัดบนพื้นฐานของความพิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือส่งผลให้เป็นการเสื่อมเสียหรือทำให้ไร้ผลซึ่งการยอมรับ การอุปโภค หรือการใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นพลเมืองหรือด้านอื่น รวมถึงการปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งการปฏิเสธการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล
สิทธิทางการศึกษา
๑. สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษาโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น ให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย และให้สถานศึกษามีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการตามภารกิจของสถานศึกษานั้น โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
๒. กำหนดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัยรวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึงตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
๓. คนพิการมีสิทธิทางการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น
๔. ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา
๕. ให้สถานศึกษาและศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการอาจจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งการเรียนร่วม การจัดการศึกษาเฉพาะความพิการ
๖. การจัดทำหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษาให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภท ตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด หรือสถานศึกษาเห็นสมควร
๗. จัดให้มีการบริการสำหรับคนพิการซึ่งมีอุปสรรคในการเดินทางคนพิการ
๘. สถานศึกษาทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่รับคนพิการเข้าศึกษา มีสิทธิได้รับค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามจำนวนเงินที่ต้องเรียกเก็บจากนักศึกษาพิการ
การช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายว่าต่างแก้ต่างคดี
คนพิการจะได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ ดังนี้ การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย การให้ความรู้ทางกฎหมาย การจัดทำนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ การจัดหาทนายความ และการให้ความช่วยเหลืออื่นในทางคดี
คนพิการสามารถยื่นคำขอรับความช่วยเหลือเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจา หรือส่งทางไปรษณีย์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือในคดีต่างๆ ได้แก่คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีแรงงาน และคดีทรัพย์สินทางปัญญา
สถานที่ยื่นคำขอในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งหรือยื่นต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนด ส่งนในท้องที่จังหวัดอื่นให้แจ้งหรือยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือที่หน่วยบริการในพื้นที่ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด
ค่าใช้จ่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ การวางเงินค่าธรรมเนียมศาล ค่าจ้างทนายความเพื่อแก้ต่างคดี การวางเงินเป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจได้รับความช่วยเหลือเต็มจำนวนหรือบางส่วนก็ได้
หลักเกณฑ์และวิธีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ
การมีผู้ช่วยคนพิการ การช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล และสิทธิของผู้ดูแลคนพิการ
การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยโดยการเพิ่มเติม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงที่อยู่อาศัยบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อขจัดอุปสรรคหรือจัดให้คนพิการสามารถดำรงชีวิต
ในที่อยู่นั้น ได้โดยสะดวกและเหมาะสมกับสภาพความพิการรวมถึงเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัย โดยคนพิการในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการตามที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการประกาศกำหนด ส่วนคนพิการในจังหวัดอื่นให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือหน่วยบริการในพื้นที่ตามที่ผู้ว่าราชการกำหนด
การจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ โดยจัดจ้างบุคคลเพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการเฉพาะบุคคลเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิต ภายในระยะเวลาหนึ่งตามความจำเป็นไม่เกิน ๑ ปี โดยคนพิการในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการประกาศกำหนด ส่วนในจังหวัดอื่นให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
คนพิการที่ยื่นคำขอให้มีผู้ช่วยคนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ โดยมีความจำเป็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิตได้และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
การคุ้มครองสิทธิคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล ได้กำหนดให้คนพิการที่ไม่มีบิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา ญาติ พี่น้องหรือบุคคลในครอบครัวที่รับคนพิการไว้ดูแลหรืออุปการะเลี้ยงดูมีสิทธิได้รับสวัสดิการในเรื่องต่างๆ เช่น การช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ การจัดหาครอบครัวอุปการะ การส่งเข้าอุปการะในสถานสงเคราะห์ การจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ และการช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ สำหรับคนพิการที่จะได้รับสิทธิในเรื่องนี้ต้องไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดูหรือมีแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงหรือมาเหมาะสม ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ จะต้องให้การสนับสนุนสถานสงเคราะห์เอกชนที่รับอุปการะคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลด้วย
สิทธิของผู้ดูแลคนพิการ
ผู้ดูแลคนพิการที่ได้รับความเดือดร้อนหรือยากลำบากเนื่องจากต้องดูแลคนพิการได้รับสิทธิในเรื่องต่างๆ ดังนี้ การบริการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรมทักษะการเลี้ยงดูคนพิการ การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพคนพิการ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การทำงานในสถานประกอบการ การฝึกอาชีพ การสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ การมีงานทำ การให้สัมปทานหรือสถานที่จำหน่ายสินค้า การจัดจ้างแบบเหมางานอื่นๆ
หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ
กำหนดให้คนพิการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ มีสัญญาชาติไทย มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน ไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์ หรือถูกขังในเรือนจำตามหมายจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยไม่ตัดสิทธิคนพิการที่ได้รับสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือระเบียบอื่น
คนพิการจะต้องลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยคนพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่อื่นตามที่ผู้บริหารท้องถิ่นประกาศกำหนด
การจ่ายค่าเบี้ยความพิการให้จ่ายได้ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาท ( ห้าร้อยบาทถ้วน ) โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิเป็นรายเดือนภายในวันที่สิบของทุกเดือน
กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแห่งชาติใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การส่งเสริมและการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาละการประกอบอาชีพคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
องค์กรเอกชนสามารถขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรด้านคนพิการ และการส่งเสริมและพัฒนาคุภาพชีวิตคนพิการได้
คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถกู้ยืมเงินทุนแบบรายบุคคลหรือรายกลุ่มเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพไม่เกินรายละ ๔๐,๐๐๐ บาท ( สี่หมื่นบาทถ้วน ) หรือกู้ยืมรายกลุ่มๆ ละไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ( หนึ่งล้านบาทถ้วน ) โดยผ่อนชำระภายใน ๕ ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย
แผนงานหรือโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นโยบายรัฐบาล หรือนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์และกระบวนการในการดำเนินงานชัดเจน และมีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สร้างการมีส่วนร่วมของบุคคลหรือหน่วยงานหรือประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการหรือมีหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจด้านคนพิการเข้าร่วมบริหารจัดการหรือให้คำปรึกษาในการดำเนินงาน สำหรับองค์กรภาคเอกชนต้องเป็นแผนงานหรือโครงการที่ดำเนินงานมาแล้ว โดยมีทุนหรือเงินสมทบอยู่บางส่วน หรือเป็นแผนงานหรือโครงการใหม่ ต้องไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนราชการและแหล่งทุนอื่นๆ หรือได้รับสนับสนุนแต่ไม่เพียงพอ
สิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ
และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
๑. การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น
๒. การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติหรือแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสมในสถานศึกษาเฉพาะหรือในสถานศึกษาทั่วไป หรือการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษานอกระบบโดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามความเหมาะสม
๓. การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การให้บริการที่มีมาตรฐาน การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทำ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และการบริการสื่อ สิงอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีหรือความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อการทำงานและประกอบอาชีพของคนพิการ
๔. การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพแห่งความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่จำเป็น
๕. การช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรมการพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี
๖. ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความอำนวยความสะดวดเพื่อการสื่อสาร
๗. สิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใดๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทาง และการได้รับสิ่
อำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะโดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการ
๘. การจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ
๙. การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การมีผู้ช่วยคนพิการหรือการจัดให้มีสวัสดิการอื่น
หลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็น
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ให้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้การกระทำนั้น
โดยผู้มีสิทธิยื่นคำขอได้แก่ คนพิการที่ได้รับความเสียหายหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำที่มีลักษณะการเลือกปฏิบัติ หรือผู้ดูแลคนพิการในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ หรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปร้องขอด้วยตนเองได้ หรือองค์กรด้านคนพิการหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการให้ดำเนินการร้องขอแทน
วิธีการยื่นคำร้องขอ ให้คนพิการหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือหรือส่งทางไปรษณีย์หรือด้วยวาจาหรือด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติดำเนินการวินิจฉัยและมีคำสั่งตามที่กำหนดไว้
สถานที่ร้องขอ ผู้อยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ร้องขอต่อสำนักงานหรือหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือหน่วยงานอื่นที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนด ส่วนผู้ที่อยู่ในจังหวัดอื่นให้ร้องขอต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนั้นๆ หรือหน่วยงานอื่นตามที่ผู้ว่าราชการกำหนด
เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีการวินิจฉัยและออกคำสั่งแล้ว ให้เสนอการวินิจฉัยและคำสั่งต่อประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติหรือบุคคลที่ประธานกรรมการมอบหมายเพื่อพิจารณาลงนามในการวินิจฉัยและคำสั่งแจ้งให้คู่กรณีทราบต่อไป
คนพิการที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และการฟ้องร้องไม่ว่าคนพิการเป็นผู้ฟ้องเองหรือองค์กรด้านคนพิการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ฟ้องแทนได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม