วิสัยทัศน์
“คนตาบอดอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมบุคคลทั่วไป”
วัตถุประสงค์หลักของ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
๑) เพื่อดำเนินการจัดการศึกษา จัดตั้งสถานศึกษาสำหรับคนพิการทางการเห็น และคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย ทุกประเภทและทุกระดับการศึกษา
๒) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาทั่วไปในทุกประเภทและทุกระดับการศึกษา
๓) เพื่อจัดตั้งหน่วยผลิต จัดหา ให้บริการสื่อ ซ่อมบำรุงและค้ำประกันการยืมสื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุการศึกษาและอาชีพให้กับคนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วยและผู้ดูแล ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
๔) เพื่อเป็นศูนย์กลางการฝึกอาชีพสำหรับคนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย และผู้ดูแลคนพิการในด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรมและด้านอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมให้ประกอบอาชีพ หรือจัดหาแหล่งทุน หรือค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามวงเงิน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบ เพื่อให้คนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย สามารถพึ่งพาตนเองได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข
๕) เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพด้านการนวดไทย ทั้งในระดับวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประเภทการ นวดไทย และระดับผู้ให้บริการเพื่อสุขภาพ โดยดำเนินการให้มีสถานพยาบาลและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นสถาบันถ่ายทอดความรู้ให้กับคนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย
๖) เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการ เป็นหน่วยให้คำปรึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้สาธิต ด้านการจัดการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้เทคโนโลยี การดำรงชีวิตอิสระและอื่นๆ แก่คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย ครอบครัวและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
๗) เพื่อส่งเสริมให้คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย และผู้ดูแล เข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
๘) เพื่อการคุ้มครองสิทธิ และป้องกันการกระทำทารุณกรรมต่อคนพิการทางการเห็น และคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย
๙) เพื่อรวบรวม จัดเก็บข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลาย ในการให้บริการแก่คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วยและผู้ที่มีความสนใจผ่านการให้บริการออนไลน์
๑๐) ส่งเสริมให้มีการทำวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วยและครอบครัวในทุกมิติ
๑๑) เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีวัตถุประสงค์จัดสรรกำไรมาให้องค์กรสาธารณกุศล ได้จัดสรรกำไรมาสนับสนุนภารกิจงานของมูลนิธิ
๑๒) เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่คนพิการทางการเห็น คนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วย และผู้ดูแล
๑๓) ร่วมดำเนินการกับองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันเพื่อสาธารณประโยชน์
๑๔) ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
แนวคิด - ปรัชญาการทำงานของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน จึงได้กำหนดแนวคิดและปรัชญาในการทำงานไว้ดังนี้
๑) ยอมรับว่า คนพิการทางการเห็นได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่คนพิการทางการเห็นส่วนใหญ่ จำนวนประมาณ ๘๕% ยังถูกกีดกันไปจากการศึกษา, การจ้างงาน รวมทั้งโอกาสต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม
๒) ทราบว่า สมัชชาสหประชาชาติ ได้มีมติที่ ๓๗/๕๒ วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๖ รับรองแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วย เรื่อง คนพิการ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้บรรลุถึงการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเสมอภาค รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิคนพิการ
๓) ทราบว่า กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกได้จัดทศวรรษคนพิการ (พ.ศ.๒๕๓๖ – ๒๕๔๕) ที่นครปักกิ่ง ได้รับรองประกาศที่ว่าด้วย การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และความเสมอภาคของคนพิการรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิคนพิการในภูมิภาคนี้
๔) ทราบว่า มีการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาสังคม จัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเก็น ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และในปฏิญญาโคเปนเฮเก็นมีส่วนหนึ่งระบุว่าคนพิการเป็นชนกลุ่มน้อยของโลก ที่มักจะถูกผลักใสให้ตกอยู่ในความยากจน ว่างงาน ถูกโดดเดี่ยวทางสังคม ในปฏิญญายังได้เสนอแนะให้มีการส่งเสริมกฎมาตรฐานว่าด้วยการสร้างความเสมอภาค และสร้างโอกาสให้แก่คนพิการ และพัฒนากลวิธีต่างๆ เพื่อให้มีการนำกฎมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติด้วย
๕) ทราบว่า เอเชียแปซิฟิกได้ขยายทศวรรษคนพิการออกไปอีกจากปี พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๕ เป็นปี พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๕๕
๖) ทราบว่า ถึงแม้ จะมีความพยายามดำเนินงานด้านคนพิการตามแนวนโยบายทั้ง 12 ประการแล้ว แต่ผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการศึกษาของเด็กพิการ
๗) ทราบว่า แนวทางการช่วยเหลือคนพิการนั้น ได้ถูกปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากฐานของการกุศลไปสู่ฐานของสิทธิและก้าวไปสู่มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิรวมทั้งศักดิ์ศรีของคนพิการ
๘) ทราบว่ากรอบการปฏิบัติงานแห่งสหัสวรรษจากทะเลสาบบิวา คือ ส่งเสริมสังคมบูรณาการ ปลอดจากอุปสรรค และตั้งอยู่บนฐานของสิทธิสำหรับคนพิการ ซึ่ง "สังคมบูรณาการ" หมายถึง สังคมที่เป็นของคนทุกคน และ "สังคมที่ปลอดจากอุปสรรค" หมายถึง สังคมที่ปลอดจากอุปสรรคด้านกายภาพ และทัศนคติ รวมทั้งอุปสรรคทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ส่วนสังคมที่ "ตั้งอยู่บนฐานของสิทธิ" ก็หมายถึง สังคมที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการพัฒนานั่นเอง
๙) รับทราบว่า ประชาคมโลก ได้ให้ความสำคัญกับคนพิการเป็นอย่างมาก โดย สหประชาชาติได้มีปฏิญญาว่าด้วย สิทธิของคนพิการทางสมองและปัญญา, ปฏิญญาว่าด้วย สิทธิของคนพิการ, อนุสัญญาว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพและการจ้างงาน (คนพิการ), กฎมาตรฐานในการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสสำหรับคนพิการ รวมทั้งความต้องการพิเศษด้านการศึกษา
๑๐) รับทราบว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับคนพิการเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐, พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎหมายว่าด้วยสิทธิคนพิการและการให้การบริการอื่นๆเพื่อการช่วยเหลือให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
๑๑) ยอมรับว่าพื้นฐานและการก่อกำเนิดของธรรมิกชนมาจากความเชื่อและศรัทธาของคริสต์เตียนโดยมีนัยสำคัญดังนี้
๑๑.๑) เชื่อว่าเราเป็นผู้ที่ถูกกำหนดโดยพระเจ้าให้มาช่วยเหลือคนพิการทางการเห็น
๑๑.๒) เชื่อว่าพระเจ้าให้ศักยภาพคนพิการทางการเห็นเท่าเทียมกับคนปกติ
๑๑.๓) ทรัพย์สมบัติที่ได้มาไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาเพื่อใช้ในภารกิจส่งเสริมช่วยเหลือคนพิการทางการเห็น เราจะนำใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการทางการเห็น
๑๑.๔) เราจะทุ่มเท ตอบสนองทุกวิถีทางที่จะป้องกัน ส่งเสริม ช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น มีศักดิ์ศรีตามศักยภาพที่พระเจ้าประทาน ให้
๑๑.๕) เราตระหนักดีว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ และมูลนิธิเป็นองค์การที่พระเจ้าประทานมาเพื่อให้การช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วธรรมิกชนจึงได้กำหนดบทบาทของตนเอง
พันธกิจ
พัฒนาการจัดการศึกษา การอาชีพ ศักยภาพของคนตาบอด และการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ปรัชญา
คนตาบอดรู้จักและเข้าใจ ธรรมชาติ สังคม ตนเอง เพื่อกำหนดจุดยืนในสังคม
ปรัชญาและความเชื่อ
เรายอมรับว่าคนพิการทางการเห็นมีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนปกติโดยทั่วไปและเชื่อว่าคนพิการทางการเห็นม็ความสามารถเท่าเทียมกับคนปกติ สามารถฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้ถ้าให้โอกาสแก่พวกเขา
กลุ่มเป้าหมาย
มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด ในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จะมุ่งเน้นให้บริการแก่คนพิการทางการเห็น (Blindness) คนพิการทางการเห็นซึ่งมีความพิการอื่นร่วมด้วย (Multiple Disabilities with Visually Impaired) และกลุ่มผู้ดูแลคนพิการทางการเห็น (Assistants Blind Persons)
ภารกิจหลักของมูลนิธิฯ
เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ มูลนิธิฯจึงได้กำหนดภารกิจหลักและมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มคนพิการทางการเห็นอย่างต่อเนื่องดังนี้
๑) ภารกิจด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของคนพิการทางการเห็น
๒) ภารกิจด้านการส่งเสริมการศึกษาของคนพิการทางการเห็น
๓) ภารกิจด้านการส่งเสริมวิชาชีพ/การมีอาชีพและการประกอบอาชีพและการมีงานทำของคนพิการทางการเห็น
๔) ภารกิจด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาคนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเห็นที่มีความพิการอื่นร่วมด้วยและการให้การบริการอื่น
๕) ภารกิจด้านจริยธรรมและพัฒนาจิตใจ
๖) ภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์/หารายได้
ภารกิจด้านจริยธรรมและพัฒนาจิตใจ
๑) มูลนิธิมีนโยบายที่จะให้บุคลากรและผู้รับบริการ เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ
๒) มูลนิธิมีนโยบายที่จะให้บุคลากรและผู้รับบริการมีจริยธรรมอันดีงาม
๓) มูลนิธิมีนโยบายจะให้บุคลากรและผู้รับบริการประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยและจรรยาบรรณของมูลนิธิ
บทบาทของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรเอกชนการกุศล ดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็น ได้กำหนดบทบาทขององค์กรดังนี้
๑) บทบาทในการเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agent = Agency to bring about Social value change) คนโดยทั่วไปมักจะคิดว่า ผู้พิการทางการเห็นเป็นบุคคลที่ไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือตนเองได้ ไร้สมรรถภาพในการดำรงชีวิต ไม่สามารถเรียนหนังสือหรือศึกษาเล่าเรียนได้ ไม่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้นผู้พิการทางการเห็นจึงถูกลืม หรือจัดอยู่ในกลุ่มประเภทบุคคลที่ไร้คุณค่าของสังคม เป็นได้เพียงขอทานเท่านั้น ดังนั้นมูลนิธิฯจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ ของสังคมทั่วไปว่า คนพิการทางการเห็น(ตาบอด) ไม่ไร้สมรรถภาพ ไม่ไร้ความสามารถ เขาจะสามารถศึกษาเล่าเรียนประกอบอาชีพได้ดีเท่าๆกับคนปกติ เขาจะไม่เป็นภาระของสังคม เขาจะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร ถ้าสังคมให้โอกาสแก่เขา
๒) บทบาทในการเป็นผู้สาธิต (Demonstrator = to make the people know the possibilities.) การที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและทัศนคติที่ว่า คนพิการทางการเห็นสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาตนเองได้ ถ้าให้โอกาสแก่เขานั้น จะต้องมีการสาธิต การทดลองทำให้เห็นอย่างจริงจังจนบังเกิดผลสำเร็จ ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ แสดงให้เห็นว่า คนพิการทางการเห็น มีความสามารถพัฒนาตนเองได้ สามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกันกับคนปกติทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น โครงการเรียนร่วมที่มูลนิธิธรรมิกชนฯได้ดำเนินการในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จำนวน 5 โรงเรียน จนประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของรัฐและต่อมา รัฐจึงได้ออกกฎหมายให้โรงเรียนของรัฐรับนักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมกับเด็กนักเรียนทั่วไป ดังนั้นมูลนิธิฯจึงต้องเป็นผู้ที่ทดลองทำ หรือสาธิตให้องค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชนอื่นหรือสังคมเห็นว่า การให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็น เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตนเองได้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
๓) บทบาทในการเป็นตัวเร่ง ผลักดันให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น/ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และเร็วขึ้น(Accelerator) เมื่อทัศนคติเปลี่ยนแปลง แนวความคิดได้รับการยอมรับ แต่การที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังนั้นจะเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีข้อจำกัด อุปสรรคและปัญหามากมาย ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงเป็นผู้ที่จะต้องผลักดันและดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็น เช่นผลักดันให้มีกฎหมายรองรับสิทธิต่างๆของคนพิการ ผลักดันในสถาบันการศึกษาต่างๆให้ยอมที่จะรับคนพิการทางการเห็น เข้าศึกษาเล่าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป และอื่นๆอีก
๔) บทบาทในการเป็นผู้ประสานที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Coordinator) ในการให้การช่วยเหลือคนพิการนั้น ผู้ที่รับผิดชอบ(รัฐ) และองค์กรที่ทำงานในด้านนี้ซึ่งมีอยู่หลายองค์กรและแต่ละองค์กรก็จะมีลักษณะ/ รูปแบบ / วิธีการทำงานและวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป
ดังนั้นมูลนิธิฯจะต้องเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นมีประสิทธิผลและเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุด
๕) บทบาทในการเป็นผู้ร่วมงานกับองค์กรอื่น (Partner) เป็นที่ทราบว่า การให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นนั้นไม่ได้มีเพียงองค์กรหนึ่งองค์กรเดียว แต่ละองค์กรต่างก็ให้ความช่วยเหลือในชนิดและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางองค์กรก็ทำงานทั้งๆที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ, บุคลากรไม่เพียงพอ, ความรอบรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอ และอื่นๆ การร่วมมือกัน ช่วยกันทำงาน แบ่งปันทรัพยากร ความรอบรู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการให้การช่วยเหลือผู้พิการอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นมูลนิธิฯจะแสวงหาและให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการทางการเห็น
๖) บทบาทในการเป็นนักปฏิบัติการ (Operator) ในการให้การช่วยเหลือบางอย่าง รัฐยังไม่สามารถดำเนินการตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการ ทางการเห็นได้ หรือได้แต่ไม่ทันท่วงที ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากงบประมาณไม่เพียงพอ กฎหมายไม่เอื้ออำนวยหรือระบบการทำงานที่ล่าช้า และ อื่นๆ ดังนั้น เพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการของคนพิการทางการเห็น มูลนิธิฯจึงต้องดำเนินการเองในกิจกรรมที่รัฐหรือหน่วยงานอื่นไม่ได้ดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการได้
๗) บทบาทในการเป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้บริการต่างๆ (Supporter) การให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเฉพาะทางเป็นจำนวนมาก จะอาศัยงบประมาณจากทางรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอและไม่ทันท่วงที ดังนั้นมูลนิธิฯจึงต้องเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้การสนับสนุนแก่ผู้พิการทางการเห็น จนกว่ารัฐจะสามารถให้การบริการได้อย่างทั่วถึง
๘) บทบาทในการเป็นนักวิจัย คิดค้นสิ่งใหม่ (Researcher) การให้การช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จโดยเฉพาะ วิธีการและรูปแบบและการให้การช่วยเหลือจะต้องได้รับการประเมินผลและปรับปรุงใหม่อยู่เสมอเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสะถานการปัจจุบัน (ต้องคิดใหม่ ทำใหม่อยู่เสมอ) ดังนั้นมูลนิธิฯจึงจะเป็นผู้ทำการคิดค้นแนวทางใหม่ๆหรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์ใหม่ๆมาใช้เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด
๙) บทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator =Prepare the way to make things possible) บางครั้งในการดำเนินภารกิจช่วยเหลือผู้พิการทางการเห็นนั้น มีหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนอื่นกำลังจะดำเนินการหรือกำลังดำเนินการอยู่ ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปดำเนินการอีกให้เป็นการซ้ำซ้อน แต่มูลนิธิฯจะให้ความช่วยเหลือหรือเอื้ออำนวยในด้านต่างๆเพื่อให้องค์กรรัฐหรือองค์กรเอกชนอื่นที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล
๑๐) บทบาทในการเป็นที่ปรึกษา / ให้คำแนะนำ (Counselor) เนื่องจากองค์กรเอกชนมักจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่นเชี่ยวชาญทางการให้การช่วยเหลือคนตาบอด, ตาบอดพิการซ้ำซ้อน, ออร์ทิสติค, เป็นใบ้ หรือพิการทางร่างกาย ดังนั้นองค์กรเอกชนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางนี้ จะสามารถให้ความรู้ คำแนะนำแก่องค์กรเอกชนอื่นหรือองค์กรรัฐ มูลนิธิฯเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นมาเป็นเวลานานปี มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ จึงจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำแก่องค์กรอื่นๆในด้านความพิการทางการเห็น